หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบัญชี
เรามุ่งเน้นที่จะผลิตนักวิชาการบัญชีที่สามารถผสมผสานองค์ความรู้บัญชีเข้ากับแนวคิดร่วมสมัย เพื่อให้เกิดการพัฒนาความรู้ทางบัญชีแบบเกลียวหมุนต่อยอด (A spiral model of accounting knowledge development) จากคณาจารย์ที่มีศักยภาพในศาสตร์ที่หลากหลาย และมีความเชี่ยวชาญในแนวทางในการวิจัย (Research approaches) ทั้งการวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative) และ การวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative) โดยผู้เรียนจะได้เปิดมุมมองกระบวนทัศน์การวิจัย (Research paradigm) แบบปฏิฐานนิยม (Positivism) และแบบตีความนิยม (Interpretivism) ซึ่งเป็นรากฐานที่สำคัญในการพัฒนางานวิจัยเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ นอกจากนี้ผู้เรียนจะได้เรียนรู้การใช้เครื่องมือทางวิจัยที่หลากหลาย เช่น การใช้เครื่องมือทางสถิติที่ได้รับความนิยมในทศวรรษนี้ เช่น โปรแกรม IBM-SPSS AMOS ในงานวิจัยเชิงสถิติ หรือ โปรแกรมที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ เช่น NVivo เป็นต้น
ชื่อปริญญาและสาขาวิชา
- ชื่อเต็ม(ภาษาไทย)
- ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต (การบัญชี)
- ชื่อย่อ(ภาษาไทย)
- ปร.ด. (การบัญชี)
- ชื่อเต็ม(ภาษาอังกฤษ)
- Doctor of Philosophy (Accountancy)
- ชื่อย่อ(ภาษาอังกฤษ)
- Ph.D. (Accountancy)
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา
เป็นผู้สำเร็จการศึกษาปริญญามหาบัณฑิตหรือเทียบเท่าในสาขาบัญชี หรือสาขาที่อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการหลักสูตร ทั้งนี้ต้องสอบผ่านวิชาการบัญชีมาอย่างน้อย 6 วิชา จำนวน 18 หน่วยกิต ในระดับปริญญาบัณฑิต จากสถาบันการศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศที่รับรองโดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา
การคัดเลือกผู้เข้าศึกษา
- พิจารณาคัดเลือกผู้สมัคร จากคุณสมบัติต่างๆ ในใบสมัคร เช่น ผลการศึกษา ประสบการณ์และอื่นๆ
- สอบสัมภาษณ์ด้านความพร้อมและโอกาสที่จะสำเร็จการศึกษา รวมทั้งความรู้ที่เกี่ยวข้อง ประเด็นหัวข้อวิจัยทางบัญชี
- พิจารณาข้อเสนอโครงงานวิจัย
ค่าใช้จ่ายในการศึกษา
ระยะเวลาการศึกษาตลอดหลักสูตร 3 ปี ค่าเล่าเรียนตลอดหลักสูตร 589,200 บาท