CIBA DPU ชี้การปรับหลักสูตรให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และการศึกษาสมัยใหม่ที่เน้นการบูรณาการข้ามศาสตร์ จะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกเรียนตามความชอบ ห่วงภาครัฐรับทราบ หลักสูตรและรับรองคุณวุฒิช้า อาจเสียโอกาสการพัฒนาของสถาบันอุดมศึกษา
ผศ.ดร.ศิริเดช คำสุพรหม คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่า โลกในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้การเรียนรู้ในยุคปัจจุบันต้องปรับไปตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ดังนั้น ทุกสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนในระดับอุดมศึกษา จึงให้ความสำคัญกับการบูรณาการความรู้ข้ามศาสตร์ เพราะเป็นการเรียนรู้ที่เปิดกว้างให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามความชอบของตนเองได้ ทั้งยังเป็นการรวมองค์ความรู้ในหลากหลายศาสตร์ให้นักศึกษารอบรู้อย่างครบเครื่อง เมื่อจบการศึกษาสามารถนำองค์ความรู้ที่ได้ไปประกอบวิชาชีพได้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ วิทยาลัย CIBA DPU ได้เล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงปรับหลักสูตรเพื่อให้ทันต่อเหตุการณ์ในปัจจุบันอยู่เสมอ อาทิ การบูรณาการข้ามศาสตร์ผ่านโครงการ CIBA Mini-Capstone ผ่านการอบรมโดยผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ กฎหมาย การบัญชี และการจัดการ เป็นต้น
ผศ.ดร.ศิริเดช กล่าวว่า เร็วๆนี้ CIBA เตรียมเปิดหลักสูตรการเรียนรู้ที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียน หรือ Personalized โดยเปิดให้นักศึกษาทุกมหาวิทยาลัยที่มีความร่วมมือกับDPUและเป็นสถาบันที่ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) สามารถเทียบโอนรายวิชาจากมหาวิทยาลัยเดิมเพื่อเข้ามาเรียนที่วิทยาลัย CIBA ได้ โดยมีเงื่อนไขว่านักศึกษาต้องเรียนในรายวิชาแกนหลักของ CIBA ซึ่ง มี 15 วิชา ใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวิชาผู้ประกอบการ กลุ่มวิชาดิจิทัล และกลุ่มวิชานวัตกรรมธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อปลูกฝัง DNA ของความเป็นนักธุรกิจให้อยู่ในตัวนักศึกษา และเมื่อเรียนจบจะได้รับปริญญา บริหารธุรกิจบัณฑิต สาขานวัตกรรมธุรกิจ (B.B.A in Business Innovation) สำหรับข้อดีของการเรียนหลักสูตรดังกล่าว คือ มีความยืดหยุ่นในวิธีการเรียน มีช่องทางการเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่สำคัญนักศึกษาสามารถเลือกวิธีการเรียนที่ดีที่สุดให้กับตนเองได้
“เพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก มหาวิทยาลัยจึงต้องมีการปรับหลักสูตรอยู่ตลอดเวลา เพราะสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นได้เสมอ เช่น การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลให้พฤติกรรมของคนเปลี่ยนแปลงไป ทำให้หลักสูตรการเรียนบางรายวิชาต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันยุคสมัย แต่สิ่งที่น่ากังวลของการผลิตหลักสูตรใหม่ คือ ความล่าช้าของหน่วยงานที่ทำเรื่องรับทราบและรับรองหลักสูตร ใช้เวลานานกว่า 6-12 เดือน ในการรับทราบหลักสูตรต่างๆ ที่แต่ละมหาวิทยาลัยเสนอไป ซึ่งความล่าช้าดังกล่าวมีผลต่อการกำหนดอัตราเงินเดือนของนักศึกษาที่จบไปจากหลักสูตรใหม่ นอกจากนี้ยังส่งผลให้เสียโอกาสในการนำหลักสูตรไป collaborate กับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ ซึ่งจะทำความร่วมมือกับเฉพาะหลักสูตรที่ได้รับรองจากหน่วยงานของรัฐแล้วเท่านั้น ซึ่งต้องยอมรับว่าหลักสูตรของต่างประเทศจะพัฒนาไปไกลกว่าเรา 5-10 ปี ดังนั้นจะให้ทันต่างชาติได้เราต้องไปทำความร่วมมือกับเขา แต่หากหลักสูตรใหม่ๆของเราได้รับการรับทราบช้าก็จะทำให้เราเสียโอกาสไป ” คณบดีวิทยาลัย CIBA DPU กล่าว
คณบดีวิทยาลัย CIBA DPU กล่าวในตอนท้ายว่า ขณะที่หน่วยงานภาครัฐมีความต้องการให้สถาบันอุดมศึกษาปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนให้ทันสมัยและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งสถาบันต่างๆ ก็พร้อมและได้ดำเนินการไปแล้ว ดังนั้น กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องพร้อมที่จะรับรองหลักสูตรที่เกิดใหม่ให้รวดเร็วมากขึ้นเพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน ขณะเดียวกันภาครัฐก็ต้องยอมรับว่าสถาบันอุดมศึกษาอาจต้องมีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงหลักสูตรอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกเช่นกัน
ที่มา https://siamrath.co.th/n/198896