CIBA DPU จับมือ IBERD จัดเวทีเชิญกูรูด้านการค้าระหว่างประเทศ-โลจิสติกส์ ร่วมแนะทางรอดธุรกิจส่งออกหลังโควิด-19 ชี้หาตลาดใกล้ CLMV ทดแทนตลาดไกล เหตุต้นทุนขนส่งต่ำ-ศก.โตต่อเนื่อง แนะตลาดแรงงาน Up Skillทักษะด้านผู้ประกอบการและดิจิทัล
“IBERD Virtual Live Business and Economic Conference”อีกหนึ่งกิจกรรมที่จัดโดย CIBA DPU ร่วมกับ มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจการพาณิชย์ (IBERD) เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลังและการค้า โดยครั้งที่ 3 นี้ จัดภายใต้หัวข้อ “การค้าและการลงทุนภายใต้กลุ่มประเทศ CLMV หลังวิกฤตการณ์โควิด -19”
“ศิริเดช คำสุพรม” คณบดีวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA)มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) หรือ DPU เปิดเผยว่ากิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก “อดุลย์ โชตินิสากรณ์” อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ “สุวิทย์ รัตนจินดา”ประธานสมาพันธ์ผู้ให้บริการโลจิสติกส์ไทย ร่วมเป็นวิทยากรให้ความรู้ และ “ชาญ สารเลิศโสภณ” กรรมการสถาบัน IBRED และอดีตผู้อำนวยการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นผู้ดำเนินรายการ สำหรับผู้สนใจข่าวสารกิจกรรมต่างๆ ของ CIBA สามารถติดตามได้ผ่านทางเพจ https://www.facebook.com/dpuciba/ หรือ เว็บไซต์https://ciba.dpu.ac.th/
“อดุลย์” กล่าวว่า วิกฤตโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเมกะเทรนด์โลกในหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี วิกฤตดังกล่าวเป็นปัจจัยสำคัญที่เร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสู่โลกดิจิทัลเร็วขึ้น ซึ่งเห็นได้จากการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างแพร่หลายในรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้โปรแกรม Zoom เพื่อประชุมทางไกล นอกจากนี้ ยังเป็นตัวเร่งให้คนใช้จ่ายด้านสุขภาพมากขึ้น ส่วนคนรุ่นใหม่ใช้ชีวิตในโลกออนไลน์มากขึ้นเช่นเดียวกัน
ขณะที่ภาคเศรษฐกิจเกิดการชะลอตัว หลายประเทศหันมาเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคแทน เพื่อลดความเสี่ยงและลดต้นทุนจากการขนส่ง สำหรับประเทศไทยถือว่ามาถูกทางที่ทำการค้ากับ CLMV( กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) หรือกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีแนวโน้มเศรษฐกิจโตอย่างต่อเนื่อง และเป็นเขตการค้าเสรี (Free Trade Area:FTA) ที่สำคัญประเทศเพื่อนบ้านต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยจึงทำให้ไทยได้เปรียบหลายด้าน
“เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา กรมการค้าต่างประเทศได้ผุดโครงการเย็น-ดี สร้างโปรแกรมให้เกิดกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาเจรจาธุรกิจสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบออนไลน์ ปัจจุบันในกลุ่มมีสมาชิกทั้งหมด 1,406 คน ซึ่งในระยะกลางของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โปรแกรมดังกล่าวถือเป็นตัวช่วยให้นักธุรกิจติดต่อค้าขายได้ง่าย”อดุลย์ กล่าว
“อดุลย์” กล่าวด้วยว่า ไทยต้องขับเคลื่อนนวัตกรรมด้านดิจิทัล เพราะเป็นสิ่งสำคัญมากในการค้าระหว่างประเทศ ส่วนด้านการเรียนการสอนนั้นคนรุ่นใหม่ที่จบออกมาชอบทำงานอิสระ ไม่อยากเป็นลูกจ้างใครดังนั้น ในระยะสั้นนี้ ทักษะที่จะทำให้มีงานทำและมีรายได้ คือ ทักษะความเป็นผู้ประกอบการและด้านดิจิทัล ถ้าใครมีสองสิ่งนี้เชื่อว่าจะทำให้มีงานทำและ มี Startup ดีๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย
“สุวิทย์”กล่าวว่า ในฐานะผู้ประกอบการด้านโลจิสติกส์ ได้ติดตามภาวะเศรษฐกิจในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19มาโดยตลอด จึงเห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของโลก เมื่อสายการบินทุกสายหยุดชะงักกะทันหัน การขนส่งสินค้าและขนส่งผู้โดยสารได้เกิดผลกระทบอย่างหนัก การขนส่งสินค้าเร่งด่วน สินค้าอาหาร ผลิตภัณฑ์ยา สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่จะส่งไปทั่วโลกติดอยู่ที่สนามบิน ผู้ประกอบการโลจิสติกส์ต้องหาหนทางส่งสินค้าให้ถึงเป้าหมาย ทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีการขนส่งซึ่งต้นทุนสูงกว่าเดิม
หลังจากนี้ต้องมาวิเคราะห์แนวทางการขนส่งทางอากาศใหม่ หรือหามาตรการแก้ไขให้กลับมาขนส่งได้ในราคาใกล้เคียงต้นทุนเดิมมากที่สุด หรือเปลี่ยนมาเป็นการขนส่งทางเรือ เพราะมีข้อจำกัดน้อยกว่าช่องทางอื่นและสามารถส่งสินค้าที่มีความจำเป็นได้ทั่วโลก สำหรับการค้าขายในระยะนี้ ต้องค้าขายกับประเทศเพื่อนบ้าน ระยะเวลาขนส่งรวดเร็ว ต้นทุนไม่สูง
“ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 กลุ่มโลจิสติกส์มีบทบาทสำคัญมาก ในการขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภครวมถึงเวชภัณฑ์ต่างๆ เพราะสินค้าในกลุ่มนี้สามารถสร้างความมั่นใจให้คนทั่วโลกได้ หลังจากนี้ทุกภาคส่วนต้องหารือเรื่องการบริหารการจัดการด้านโลจิสติกส์ เพราะยังไม่สามารถชี้ชัดได้ว่าโรคระบาดนี้จะอยู่กับคนทั่วโลกไปอีกนานหรือไม่ “สุวิทย์ กล่าว
“สุวิทย์” กล่าวอีกว่า การขยายความร่วมมือทางการค้ากับ CLMV ไทยถือเป็นรายใหญ่ในการส่งออก ขณะเดียวกันตลาดที่เราต้องร่วมมืออย่างใกล้ชิดต่อไปคือจีน เนื่องจากอนาคตอันใกล้จะเห็นภาพการขนสินค้าทางบกจากไทยไปลาว จีน เอเชียกลาง 11 ประเทศ ผ่านระบบราง และเชื่อมต่อไปยังยุโรปได้ ดังนั้นไทยควรมองหาตลาดใหม่ทดแทนตลาดเดิม
อย่างไรก็ตาม แม้ไทยจะเป็นศูนย์กลางโลจิสติกส์ของอาเซียน แต่ไทยยังต้องมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยี ที่สำคัญต้องกลับมาดูจุดแข็งของประเทศหรือดูโครงสร้างใหม่ เนื่องจากการค้าขายในอนาคตมีหลากหลายช่องทาง นอกจากนี้การพัฒนาระบบ E-Document เป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะช่วยลดเวลา ลดค่าใช้จ่าย รวมถึงการทำงานกับท่าอากาศยานและการท่าเรือสะดวกรวดเร็วขึ้น ทั้งยังสามารถเชื่อมโยงไปยังต่างประเทศที่มีความพร้อม อันจะนำไปสู่ระบบดิจิทัลโลจิสติกส์ที่สมบูรณ์ได้
ที่มา https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/892696